การเข้ามาของศาสนาและชนชาติต่างๆ ในภาคใต้
มีอิทธิพลต่อความคิดและความเชื่อของคนภาคใต้ ทำให้ผู้คนและสังคมภาคใต้มีเอกลักษณ์ที่เด่นชัด อันสะท้อนให้เห็นถึงสังคมและวัฒนธรรมของภาคใต้ในปัจจุบัน
      ๑) การเข้ามาของศาสนาพราหมณ์ บางครั้งเรียกว่า ศาสนาฮินดู ชาวอินเดียที่มาติดต่อค้าขาย ได้นำวัฒนธรรมการนับถือศาสนาพราหมณ์เข้ามา และประมาณกลางพุทธศตวรรษที่ ๘ เป็นช่วงที่ชาวอินเดียอพยพมาตั้งถิ่นฐานในภาคใต้มาก ซึ่งมีบันทึกหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่า ชาวอินเดียเข้ามาตั้งถิ่นฐานที่เมืองดันซุน บริเวณลุ่มน้ำตาปีและลุ่มน้ำตะกั่วป่า มีทั้งพ่อค้าและพราหมณ์ ซึ่งพวกพราหมณ์ถือเป็นผู้มีความรู้และวัฒนธรรมสูงจึงได้รับการยอมรับจากชาว พื้นเมืองและเป็นที่โปรดปรานของเจ้าผู้ครองนคร เพราะได้นำลัทธิเทวราช ซึ่งทำให้ฐานะของเจ้าผู้ครองนครสูงขึ้น ศาสนาพราหมณ์เจริญสูงสุดประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๑ – ๑๔ โดยเฉพาะที่เมืองนครศรีธรรมราช หลังพุทธศตวรรษที่ ๑๔ เริ่มเสื่อมลงและศาสนาพุทธแบบมหายานเริ่มเข้ามาแทนที่
ศาสนาพราหมณ์มีความเชื่อเรื่องเทพเจ้า วิญญาณ ไสยศาสตร์ โชคลางและเวทมนต์คาถา สอดคล้องกับความเชื่อเดิมของคนพื้นเมืองทำให้คนพื้นเมืองรับได้ง่ายและนำมา ดัดแปลงให้เข้ากับความคิดขนบธรรมเนียมประเพณีที่มีอยู่เดิม แม้ว่าศาสนาพราหมณ์จะเสื่อมไปแล้วแต่ยังมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตชาวใต้อย่าง มากโดยเฉพาะความเชื่อและพิธีกรรมต่างๆ


        ๒) การเข้ามาของศาสนาพุทธ ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๖ ลัทธิมหายานที่เจริญในอินเดียตอนเหนือได้เข้ามาในดินแดนภาคใต้ โดยเข้ามาทางเรือเข้าสู่เกาะสุมาตรา แหลมมลายู หลักฐานที่แสดงถึงร่องรอยความเจริญของมหายาน เช่น พระบรมธาตุไชยา พระบรมธาตุนครศรีธรรมราชองค์เดิม พระ-พุทธรูปแบบมหายาน เป็นต้น
ส่วนลัทธิลังกาวงศ์เข้ามาราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗ เป็นช่วงที่พุทธศาสนาในลังกาเจริญรุ่งเรืองมาก ทำให้พระภิกษุจากพม่า มอญและไทยเดินทางไปศึกษาพระศาสนาในลังกาและเกิดศรัทธายอมบวชแปลงเป็นลัทธิ ลังกาวงศ์แล้วนำมาเผยแพร่ในบ้านเมืองตน พร้อมทั้งนำพระภิกษุจากลังกามาด้วย เชื่อกันว่าพระภิกษุจากไทยนั้นไปจากนครศรีธรรมราช เมื่อกลับมาได้ปรับปรุงพระศาสนาตามแบบลังกาและได้ให้ชาวลังกาสร้างพระ มหาธาตุองค์ใหญ่ครอบพระมหาธาตุองค์เดิมไว้ภายในดังที่ปรากฏในปัจจุบัน


     ๓) การเข้ามาของศาสนาอิสลาม ศาสนาอิสลามเข้ามาสู่คาบสมุทรมลายูในช่วง พ.ศ. ๑๘๔๖-๑๙๓๐ โดยมาเจริญรุ่งเรืองอยู่ที่มะละกา แล้วแพร่ไปในท้องที่ต่างๆ ของคาบสมุทรมลายูและในสุมาตรา จากศูนย์กลางของการศึกษาศาสนาอิสลาม เช่น มะละกาและปัตตานี ในที่สุดก็ได้แพร่กระจายไปทั่วมลายูในตอนล่าง ครอบงำประชาชนที่พูดภาษามลายูไว้เกือบทั้งหมด และศาสนาอิสลามมีอิทธิพลต่อชาวไทยในภาคใต้ โดยเฉพาะใน ๔ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสตูล ซึ่งประชากร ๓ ใน ๔ ของแต่ละจังหวัดนับถือศาสนาอิสลาม หลักการสำคัญในศาสนาอิสลามคือ มุสลิมทุกคนจะต้องมีความเชื่อและศรัทธาในองค์อัลลอฮ เพียงองค์เดียว โดยเชื่อในคำสั่งสอนของพระองค์ที่ปรากฏอยู่ในมหาคัมภีร์อัล – กุรอาน ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่องค์อัลลอฮประทานมายังมนุษยชาติ โดยผ่านทางศาสดามูฮำหมัด มุสลิมทั่วโลกถือว่า มหาคัมภีร์อัล – กุรอาน เป็นธรรมนูญแห่งชีวิตหรือเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตตราบเท่าทุกวันนี้


      ๔) การเข้ามาของคนจีน เข้ามาตั้งแต่สมัยช่วงแรกของยุคแรกเริ่มประวัติศาสตร์ของภาคใต้ โดยเข้ามาติดต่อค้าขายเมืองท่าทางฝั่งตะวันออกของภาคและอาศัยเมืองท่าเป็น จุดเชื่อมโยงในการแลก-เปลี่ยนสินค้ากับพ่อค้า อินเดีย อาหรับ เปอร์เชีย ซึ่งเดินทางเข้ามาค้าขายทางฝั่งตะวันตก แล้วใช้เส้นทางคาบสมุทร (Trans – Peninsula Routes) ในการขนส่งแลกเปลี่ยนสินค้า ต่อมาเมื่อการเดินเรือทางทะเลมีความปลอดภัยและสะดวกมากขึ้น เส้นทางคาบสมุทรจึงลดความสำคัญลง คนจีนได้ติดต่อค้าขายกับไทยเรื่อยมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์  

ใส่ความเห็น